วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วัสดุในชีวิตประจำวัน

วัสดุ คือ สิ่งที่นำมาใช้ทำสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ถ้าสังเกตรอบๆ ห้องเรียน จะพบสิ่งของต่างๆ มากมาย เช่น โต๊ะ เก้าอี้ หนังสือ อุปกรณ์การเรียน กระดานดำ แจกัน เป็นต้น ลองสังเกตสิ่งของต่างๆ ที่เราพบเหล่านี้ ว่าทำจากวัสดุชนิดใดบ้าง
                      สมบัติของวัสดุ
      สิ่งของต่างๆ บางอย่างทำจากวัสดุชนิดเดียวกัน บางอย่างทำจากวัสดุต่างชนิดกัน บางอย่างทำจากวัสดุเพียงชนิดเดียว แต่บางอย่างทำจากวัสดุหลายชนิดที่เป็นเช่นนี้เพราะ วัสดุแต่ละชนิดมีสมบัติบางอย่างคล้ายคลึงกัน และมีสมบัติบางอย่างแตกต่างกัน สมบัติของวัสดุมีหลายประการ เช่น

ความยืดหยุ่น  หมายถึง  ลักษณะที่วัตถุสามารถกลับคืนสู่รูปทรงเดิมได้หลังจากแรงที่มากระทำต่อวัตถุนั้นหยุดกระทำ
ความยืดหยุ่นเป็นสมบัติประการหนึ่งของวัสดุ วัสดุบางชนิดมีสมบัติความยืดหยุ่น แต่วัสดุบางชนิดไม่มีสมบัติความยืดหยุ่น นักเรียนทราบหรือไม่ว่าวัสดุใดบ้างที่มีความยืดหยุ่น และทราบได้อย่างไร
ความแข็ง  หมายถึง  ความทนทานต่อการตัด และการขูดขีดของวัสดุ วัสดุที่มีความแข็งมาก จะสามารถทนทานต่อการขีดข่วนได้มาก และเมื่อถูกขีดข่วนจะไม่เกิดรอยบนวัสดุชนิดนั้น เราสามารถตรวจสอบสมบัติความแข็งของวัสดุได้ โดยการนำวัสดุมาขูดขีดกันเพื่อหาความทนทานต่อการขีดข่วน
ความเหนียว  หมายถึง  ลักษณะที่ดึงขาดยาก ไม่หัก ไม่ขาด เมื่อถูกดึง ยึด ทุบ ตี เพื่อให้มีรูปร่างเปลี่ยนไปจากเดิม
ความเหนียวเป็นสมบัติของวัสดุบางชนิด ซึ่งทำให้วัสดุชนิดนั้นสามารถนำมาเปลี่ยนเป็นรูปร่างต่างๆ  ได้ ตามความต้องการของผู้นำวัสดุนั้นมาใช้
การนำความร้อน  หมายถึง การถ่ายเทพลังงานความร้อนจากอนุภาคหนึ่งสู่อนุภาคหนึ่ง และถ่ายทอดกันไปเรื่อยๆ ภายในเนื้อของวัตถุ วัสดุแต่ละชนิดสามารถนำความร้อนได้แตกต่างกัน วัสดุที่นำความร้อนได้ดี
จะถ่ายเทพลังงานความร้อนได้เร็ว และมาก เมื่อวัสดุชนิดนั้นได้รับความร้อนที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง จะถ่ายโอนความร้อนไปสู่บริเวณอื่นด้วย
การนำไฟฟ้า หมายถึง  สมบัติในการยอมให้ประจุไฟฟ้าผ่านได้ วัสดุบางชนิดมีสมบัติในการนำไฟฟ้า คือ  ยอมให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้ดี แต่วัสดุบางชนิดไม่ยอมให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้ เราจึงสามารถนำสมบัติการนำไฟฟ้าของวัสดุมาใช้ในการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ได้
ความหนาแน่น  หมายถึง  ปริมาณสารที่มีอยู่ใน  1  หน่วยปริมาตร ความหนาแน่นเป็นสมบัติเกี่ยวกับเนื้อของวัตถุ  วัสดุที่มีเนื้อแน่นจะมีความหนาแน่นมากกว่าวัสดุที่มีเนื้อโปร่ง

ถ้านักเรียนสังเกตเนื้อของฟองน้ำ  จะสังเกตเห็นรูพรุน  แต่ถ้าสังเกตเนื้อของไม้  อิฐ  นอต และดินเหนียว จะสังเกตเห็นว่าเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีรูพรุนแทรกอยู่  ถ้านำฟองน้ำ  ไม้  อิฐ  นอต และดินเหนียวไปลอยน้ำ วัตถุที่ลอยน้ำได้คือฟองน้ำ และไม้  ส่วนอิฐ  นอต และดินเหนียวจะจมน้ำ  ที่เป็นเช่นนี้เพราะฟองน้ำและ ไม้  มีเนื้อโปร่ง  มีความหนาแน่นน้อย  จึงทำให้น้ำหนักน้อย ทำให้สามารถลอยน้ำได้  ส่วนอิฐ นอต และดินเหนียว  มีเนื้อแน่น  จึงมีความหนาแน่นมาก ทำให้มีน้ำหนักมากจึงจมน้ำ